สมาชิกช้อปเก็บคะแนนสะสมเพื่อส่วนลด 5% ทุกยอดซื้อ
จัดส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อสินค้าครบ 1,000 บาท

The Art of Style Improvisation

The Art of Style Improvisation

หัดมองภาพใหญ่ รักษาไว้ซึ่งสมดุลระหว่างการอิมโพรไวส์และการวางแผน

บทความโดย Korakot Unphanit, Contributing Writer


ก่อนเข้าเรื่อง ผมขอนอกเรื่องนิดนึงครับ

แม้ผมจะใช้น้ำหมึกแลกเงินมาหลายปี แต่ขอยอมรับว่างานนี้ไม่ง่ายเลย และขอสารภาพว่าผมเขียนและลบและเขียนบทความนี้ใหม่ไปเกือบ 10 ครั้งแล้ว และนี่คือความพยายามครั้งที่ 11 ในเวลาห้าทุ่มกว่าๆ ตาที่เริ่มปรือกับกาแฟแก้วที่สองนั้น (นับจากหลัง 6 โมงเย็น) มันบีบบังคับให้ผมต้องทำสัญญากับตัวเองว่า จะต้องด้นสดและไปตายเอาดาบหน้าโดยไม่ลบแล้วเขียนใหม่บ่อยๆ

มันขัดแย้งทีเดียวครับที่จะตัดสินใจ ‘ด้นสด’ ในบทความที่จั่วหัวตัวหนาว่าให้ ‘หัดมองภาพใหญ่’ ซึ่งภาพใหญ่ในทีนี้หมายถึงการมองให้เห็นภาพรวม มองอย่างมีแผนว่ากำลังจะไปทิศทางไหน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่หลงทาง

แต่ทำไงได้ครับ หากคุณคือคนทำงานผู้บูชาความศักดิ์สิทธ์ของเส้นตาย การด้นครั้งนี้ก็น่าลองเสี่ยงดูสักครั้ง

แล้วทำไมต้องด้น ในเมื่อการเขียนนั้นสามารถตีกรอบให้เห็นภาพใหญ่ได้ ก็เขียนตามแผนไปสิ มันจะยากอะไร แค่ลิสต์ประเด็นออกมาคร่าวๆ จัดเรียงลำดับของเนื้อหาว่าจะเปิดเรื่องด้วยประโยคกระชากความสนใจคนอ่าน ก่อนจะสร้างปมชวนฉุกคิด และสุดท้าย คลายปมด้วยคำคมบาดลึก แค่นี้ การเขียนก็ไม่มีวันหลงทางแล้ว

แต่มันใช้ไม่ได้กับผมครับ

คุณเคยอ่าน Life of Pi ไหม ผมจำได้เลยว่า บทนำของเรื่องนี้เกริ่นถึงนักเขียนที่ไปพำนักที่อินเดียเพื่อเขียนนิยาย ทั้งที่ตัวนักเขียนวางโครงเรื่องไว้อย่างดี รีเสิร์ชข้อมูลไว้พร้อม วางกลยุทธ์การเล่าเรื่องอย่างแยบยล พูดง่ายๆ คือ มันมีองค์ประกอบของการเป็นนิยายชั้นเยี่ยมอย่างครบถ้วนตั้งแต่ตอนที่มันยังไม่ได้เขียนด้วยซ้ำ แต่สุดท้าย นิยายเรื่องนี้กลับตายคามือคนเขียน

ฟังดูไม่มีเหตุผลเลยใช่ไหมครับที่อยู่ๆ งานศิลป์ที่วางแผนมาเป็นอย่างดีกลับพังไม่เป็นท่า แต่ผมกลับรู้สึกว่า ผมเข้าใจความรู้สึกนักเขียนในเรื่องนะ จริงอยู่ที่การมองเห็นภาพใหญ่ก่อนเขียน ทำให้นักเขียนไม่หลงทาง แต่หลายครั้ง การเห็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนเกินไป สำหรับผมนั้นทำให้งานเขียนขาดเสน่ห์ (ขอบอกก่อนว่า นี่คือความรู้สึกของผมล้วนๆ และส่วนตัวมาก) พูดง่ายๆ คือ เขาอาจรู้จักมัน ‘ดีเกินไป’ จนไม่เหลือความน่าตื่นเต้นใหม่ๆ ให้ชวนค้นหา มันทำให้ผมเข้าใจธรรมชาติในการทำงานของตัวเองเลยครับว่า ผมเขียนเพื่อทำความเข้าใจกับอะไรบางอย่าง ไอ้ ‘อะไรบางอย่าง’ ที่ว่าอาจเป็นได้ทั้งข้อเท็จจริงและความหมายของการมีชีวิต และผมจะหมดไฟที่จะเขียนทันทีหากผมบังเอิญรู้คำตอบนั้นก่อนเขียน

ตัวผมเองเป็นแบบนี้เสมอครับ ยามตั้งใจจะเขียนบทความบางเรื่อง หากผมเริ่มหมกมุ่นกับหัวข้อนั้น ‘นานเกินไป’ หรือหาข้อมูลมากเกินไป หรือหากสามารถคิดประโยคจบของบทความนั้นได้เป็นฉากๆ พูดง่ายๆ คือ ผมรู้ตอนจบของมันแล้ว เท่ากับว่า การค้นหาสิ้นสุดลงแล้ว นั่นคือผมไม่มีความตื่นเต้นหรือแรงจูงใจใดๆ ที่จะหาคำตอบผ่านการเขียนครั้งนี้อีกต่อไปแล้ว สุดท้าย บทความนั้นก็ตายก่อนที่ผมจะได้จรดปากกาด้วยซ้ำ (คล้ายๆ กับบทความนี้ที่ตายไปแล้ว 10 ครั้ง)

เรื่องนี้มันสอนผมผมว่า ก่อนจะลงมือทำอะไร ควรมองภาพใหญ่ในมุมกว้าง และแม้ผมจะเห็น ‘ตอนจบ’ ไปแล้ว ก็ยังต้องหาวิธีรักษาความสมดุลให้ตัวเองยังมีไฟในการทำงาน มันคือการบาลานซ์ระหว่างการอิมโพรไวส์กับการวางแผน การอิมโพรไวส์ทำให้งานศิลป์มีเสน่ห์ ชวนตื่นเต้น และคาดเดาไม่ได้ พูดง่ายๆ คือแม้แต่ตัวผู้แต่งเองก็ยังไม่อาจรู้ตอนจบ (ที่ชัดเจน) ส่วนการวางแผนนั้น ทำให้ศิลปินไม่หลงทาง มันคือการเอาความเพ้อฝันในคราบของจินตนาการมาวางบนเส้นเวลาจริง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าการวางแผนช่วยสร้างวินัย และวินัยคืออุปนิสัยที่ช่วยแยกศิลปินที่ประสบความสำเร็จออกจากคนเพ้อฝันที่หลอกตัวเองว่าเป็นศิลปิน

แล้วมันเกี่ยวกับสไตล์ยังไง?

เกี่ยวสิครับ หากคุณคือคนที่มองสไตล์ในความหมายการใช้ชีวิต ไม่ใช่แค่การเล่นแต่งตัวไปวันๆ เพราะสไตล์ที่เหนือชั้น ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจธรรมชาติของตนเอง รู้ว่าชอบอะไร เหมาะกับอะไร นั่นจะทำให้เรามีทิศทางในการมองภาพใหญ่ มองเห็นว่าตอนนี้ทั้งลุคมี ‘ภาพรวม’ ไปในทิศทางไหน สมดุลแค่ไหน เข้ากับธรรมชาติของตนเองไหม เหมาะสมแค่ไหนกับบริบทนั้นๆ และที่สำคัญ สไตล์ต้องสนุก ผ่อนคลาย และทำให้ผู้ใส่มีไฟเสมอ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดในการแต่งกายคือ ‘สี’ ครับ มันชัดกว่าเท็กซ์เจอร์ผ้าที่อาจต้องใช้ประสบการณ์มากกว่าในการพิจารณาและซาบซึ้งไปกับมัน นั่นจึงนำมาสู่หนึ่งในคำถามคลาสสิคที่คนเพิ่งหัดแต่งตัวมักสงสัย นั่นคือ สีนี้ แมทช์กับสีนี้ได้ไหม

เมื่อก่อน ผมก็เคยถามตัวเองอย่างนั้น

ผ่านไป 5 ปี คำถามลักษณะนี้ก็ยังอยู่ แต่มันเปลี่ยนไปเป็น แล้วทำไมจะแมทช์ไม่ได้ล่ะ

มาตอนนี้ เมื่อ learning curve สูงขึ้นตามวัยวุฒิ ผมกลับถามตัวเองว่า แล้วมันมีสีอะไรที่แมทช์กันไม่ได้ด้วยหรือ

ใช่ครับ เป็นอีกครั้งที่ผมจะยืนยันคำตอบเดิมว่า คุณจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ตราบใดที่มันไม่ขัดกับกาลเทศะ (ซึ่งสำหรับผม นั่นเป็นกฎเดียวที่ห้ามแหก) และขอให้แน่ใจว่าคุณจะรับการตัดสินใจครั้งนั้นของตัวเองได้

จริงอยู่ที่คุณจะทำอะไรก็ได้อย่างที่พอใจ แต่การจะตัดสินว่าลุคนี้ดีหรือไม่ ไม่ใช่แค่คู่สี แต่ต้องดูที่ภาพรวม

ผมขอเล่า learning curve เรื่องการแมทช์สีให้ฟังไว้เผื่อเป็นวิทยาทานครับ สมัยแรกๆ ที่สนใจสไตล์ใหม่ๆ ผมหมกมุ่นกับ ‘ทฤษฎี’ การแมทช์สีมาก หนึ่งในตำราชั้นครูที่ทุกวันนี้ผมก็ยังแนะนำสำหรับคนที่อยากศึกษาคลาสสิคเมนส์แวร์แบบลงลึกคือ Dressing The Man เขียนโดย Alan Flusser เขาเขียนหลักการการเลือกสีเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าจะสรุปง่ายๆ ผมจะขอเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการเลือกเสื้อผ้าของผู้หญิงครับ ผู้หญิงมักจะหยิบเสื้อขึ้นมาทาบตัว แล้วมองกระจก เทียบสีเสื้อกับสีผิว และจบที่สบตากับตัวเอง ใช่ครับ ผู้ชายไม่ค่อยทำวิธีนี้ เป็นไปได้ว่าผู้หญิงอาจเข้าใจลึกซึ้งถึงพลังแห่งการใช้สีมานานแล้ว สิ่งที่เธอสนใจคือ หนึ่ง มันเข้ากับสีผิวเธอไหม สอง มันขับให้หน้าเธอดูสว่างขึ้นมาหรือเปล่า

ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับทฤษฎีการเลือกใช้สีของ Flusser ที่ให้คำนึง 2 สิ่ง หนึ่ง ต้องใช้สีให้เป็น คำว่าเป็นคือ รู้จักเลือกสีที่ทำให้คู่สนทนาโฟกัสไปที่ใบหน้าเรา พูดง่ายๆ คือถ้าเดินมาแล้วเห็นเนคไทลอยเด่นกว่าหน้า ถือว่าใช้ไม่ได้ และสองคือ ต้องเข้าใจว่าแต่งตัวแบบไหนจึงจะเหมาะกับสัดส่วนของตัวเอง ที่ว่าเหมาะคือกลบจุดด้อย เสริมจุดเด่น ถ้าโดยรวมกลมกล่อมไม่มีชิ้นไหนเด้งเกินหน้า ถือว่าใช้ได้

ผมเห็นด้วยกับเขาอย่างหนึ่งว่า ระหว่างการสนทนา คงไม่งามเท่าไหร่หากคู่สนทนามัวแต่โฟกัสเนคไทสีม่วงจนลืมสบตา (ซึ่งเป็นหน้าต่างของหัวใจ) และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ที่เนคไทสีม่วงลอยเด่นเกินหน้านั้น ไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นสีม่วง แต่เป็นเพราะผู้ใส่ไม่รู้วิธีที่จะรักษาสมดุลของภาพรวมทั้งลุคต่างหาก

อีกหนึ่งประสบการณ์ที่สอนให้ผมตระหนักเรื่องการมองภาพใหญ่มากกว่าแค่การจับคู่ของคู่สี คือการได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องนี้จากการสอบถาม และสังเกตการทำงานของ Takahiro Osaki แห่งห้องเสื้อ Liverano & Liverano ต้องยอมรับว่า Taka คือคนที่สร้างเซอร์ไพรส์ในการผสมสีได้ทุกครั้ง มักมาพร้อมส่วนผสมที่เห็นแล้วต้องอุทานว่า “อย่างนี้ก็ได้เหรอ” หากใครที่ได้ดูสารคดี I Colori di Antonio คงจะทราบครับว่าวิธีที่เขาเรียนรู้เรื่องการใช้สีนั้นก็น่าสนใจ Taka กล่าวว่า เขาศึกษาการแมทช์สีจากการศึกษาภาพวาดในหอศิลป์ Uffizi แห่งฟลอเรนซ์ นอกจากจะทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้นับไม่ถ้วนในการใช้สีแล้ว ยังทำให้เขามั่นใจยามให้คำแนะนำกับลูกค้า เพราะเขาเคยเห็นการจับคู่สีเหล่านั้นมาก่อนนั่นเอง แต่สิ่งที่เขาเน้นย้ำเสมอคือ การรักษาความสมดุลของทั้งลุค ซึ่งหลักคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ Akamine Yukio สไตล์ไอคอนรุ่นใหญ่ชาวญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับลุคโดยรวมมากกว่าจะมุ่งโฟกัสไปที่ไอเท็มชิ้นใดชิ้นหนึ่ง

ครับ ผมเห็นด้วย คุณจะเอาดำชนน้ำตาลก็ได้ หรือจะใส่เข็มขัดดำกับรองเท้าน้ำตาล ก็ได้เหมือนกัน มันอยู่ที่ความกลมกล่อมของภาพรวมทั้งลุคมากกว่า เปรียบเทียบง่ายๆ  Horsebit Loafers อาจช่วยเสริมให้ชุดยีนส์นั้นเซอร์อย่างสำอาง อาจช่วยกระชากอารมณ์ให้เสื้อฮาวายไม่ดูสบายจนปล่อยตัว หรือช่วยเป็นตัวจบให้ชุดสูทสีเซฟๆ อย่างกรมท่านั้นออกมา ‘คม’ กว่าทุกครั้ง แต่ในทางกลับกัน หากใส่กับไอเทมที่ ‘เสียงดัง’ ทั้งตัว Horsebit คู่นี้อาจกลายเป็นส่วนเกินที่ยิ่งตะโกนให้ภาพรวมของทั้งลุคนี้ดูไร้รสนิยมได้ในพริบตา

และ learning curve เรื่องการมองภาพใหญ่ของผมนั้น เบ่งบานเต็มที่ก็ตอนที่ผมมาเจอกับภาพของเมอร์ซิเออร์ Yves Saint Laurent นี่แหละครับ โดยเฉพาะภาพที่เขาสวมแจ็คเก็ตลาย glen check สีนำ้ตาลแดง กับไทและพ็อคเก็ตสแควร์ในสีใกล้เคียงกัน ตัดกับเสื้อเชิ้ตลายทางเส้นใหญ่แบบ bold stripe สีเขียว เป็นไปได้ไงที่สีไทกับพ็อคเก็ตสแควร์จะใกล้กันขนาดนี้ นี่มันหักปากกาเซียนกันชัดๆ? ไหนจะลาย glen check ไซส์ใหญ่ ที่ชนกับลายทางเส้นใหญ่ของเสื้อเชิ้ต กับเนคไทที่แม้จะไม่มีลาย แต่ความเรียบไม่มีลายในบริบทนี้ก็ถือเป็นลวดลายที่ bold มาก นี่คือการชนกันของแพทเทิร์นแบบใหญ่ ชนใหญ่กว่า ชนใหญ่ที่สุด แต่น่าแปลกครับ เห็นเหมือนผมไหมว่าเมื่อมองภาพรวม ไม่มีของชิ้นไหนในลุคนี้ที่ ‘โดดเด้ง’ จนดึงความสนใจจากสายตาเราไปเลย เพราะสุดท้าย สิ่งที่ทำให้ลุคนี้ ‘เอาอยู่’ คือตัวบุรุษที่ชื่อ Yves Saint Laurent นั่นเอง ตัวตนของบุรุษผู้นี้ช่วยประสานให้ทั้งลุคนี้กลมกล่อม มีชั้นเชิงและไร้เทียมทานในระดับที่มือสมัครเล่นเห็นแล้วไม่เข้าใจ และคนที่เรียกตัวเองว่าเซียนอาจไม่มีวัน appreciate สุนทรียะแบบนี้ได้เลยหากเขาไม่มีใจที่เปิดกว้างพอ

เมื่อผมศึกษาเขา ยิ่งเข้าใจ ว่าการรู้จักมองภาพใหญ่และจัดการมันอย่างสมดุลนั้น สำคัญแค่ไหนในโลกแห่งสไตล์และแฟชั่น

ซ้าย: อีกหนึ่งบทเรียนเรื่องสี เท็กซ์เจอร์ และความสมดุลของภาพรวมจาก Yves Saint Laurent แจ็คเก็ตน้ำตาลชนกางเกงดำและพ็อคเก็ตสแควร์ดำขลิบแดง สังเกตไอเทมเสียงดังอย่างไทเขียวและเสื้อลายดอกที่ถูกซ่อนเร้นไว้อย่างชาญฉลาด ทำให้ภาพใหญ่ของลุคนี้ยังคงแฝงกลิ่นความฉูดฉาด รุนแรง ทว่ามีรสนิยมเหลือเกิน, ขวา: สังเกตการชนกันในระดับยักษ์ชนยักษ์ของแจ็คเก็ต Glen check เชิ้ตลายทาง เนคไทดำและเข็มขัดเส้นใหญ่ (และแน่นอน Cartier Tank บนข้อมือซ้าย) ภาพรวมของลุคนี้จะดู ‘เยอะ’ เกินไปทันทีหากไม่มีกางเกงขาวมาช่วยเบรก ซึ่งแม้แต่กางเกงขาวที่ว่าเรียบนั้น ในบริบทนี้กลับสร้างคอนทราสต์ของสีอย่างรุนแรงกับท่อนบน แต่ทั้งลุคกลับดูกลมกล่อมเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติเลย

 
และขอให้คิดอีกนิดครับว่า สีเป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบเล็กๆ ของการสร้างความสมดุลในภาพใหญ่ อย่าลืมว่าสีผิว สีของดวงตา สีผม เท็กซ์เจอร์ของเนื้อผ้า พื้นผิวของหนัง หรือแม้แต่ความขรุขระของหนวดเคราก็ล้วนเป็นปัจจัยในการสร้างภาพใหญ่อย่างสมดุลด้วยเช่นกัน ส่วนแค่ไหนจึงจะสมดุล อันนี้แล้วแต่คนครับ นานาจิตตัง แต่สำหรับผม การสร้างสรรค์สไตล์ที่กลมกล่อมนั้นต้องมีความพอดีระหว่างลุคโดยรวมที่วางแผนเอาไว้ แต่ต้องแฝงความตื่นเต้นในการด้นสดที่คาดเดาไม่ได้ทุกเช้า เห็นแล้วชวนตื่นเต้น เพราะถ้าหมดความตื่นเต้น ในอารมณ์ที่แค่เห็นเสื้อผ้าแล้วจินตนาการออกหมดเลยว่าจะใส่ยังไง นั่นคือสัญญาณที่คุณต้องกลับมาทบทวน อาจถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนทิศทางแห่งสไตล์อีกครั้ง

เหมือนกันกับชีวิตครับ ก่อนตัดสินใจจะทำอะไร อย่าลืมถอดร่างตัวเองออกมาจากจุดที่ยืนอยู่ ถอยออกมาสักนิด เพื่อให้เห็นภาพจากมุมกว้าง จินตนาการถึงภาพใหญ่ มองไปถึงอนาคต และพิจารณาว่าตอนนี้ เราอยู่ ณ จุดไหนในภาพใหญ่นั้น เรากำลังทำตามแผน หรือเรากำลังหลงทาง

หลงได้ครับ ไม่เป็นไร หลงแล้วก็รีบกลับตัวใหม่

แต่ถ้าหลายสถานการณ์ของชีวิต มองออกไปแล้วมืดแปดด้าน ไม่เห็นภาพใหญ่สักที กรณีนี้ ผมจะทำอย่างที่เล่ามาตอนต้นครับ

ผมจะลองอิมโพรไวส์ดูสักตั้ง ลองเขียนไปก่อน ด้นไปให้สุดทาง กลั้นใจเขียนไปโดยไม่ลบมัน 

อ้าว ไหนบอกว่าให้มองภาพใหญ่ และวางแผนก่อนทำไง ทำไมมาด้นดุ่มๆ ไร้ทิศทางแบบนี้ ก็ทำไงได้ครับ บางทีชีวิตก็ต้องเป็นแบบนั้น มีบ้างที่เราจะไม่เห็นอนาคตหรือแทบจะคาดเดามันไม่ได้ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนสไตล์นั่นแหละครับ มองไม่ออกหรอกถ้ามัวแต่ยืนแก้ผ้าและคาดเดาว่ามันจะเข้ากันไหม ทางเดียวที่จะรู้ว่าสีนั้นจะเข้ากันหรือไม่ ก็คือตอนที่หยิบมันมาใส่เทียบข้างๆ กัน

ประสบการณ์ย่างเลขสามก็บอกผมอย่างนั้นครับว่า ป่วยการที่จะยืนเฉยๆ และคาดเดาผลลัพธ์โดยไม่ทำอะไร เพราะชีวิตจะไม่มีวันมองเห็นภาพใหญ่กว่าที่เคยเห็น หากเรายังคงมองมันจากจุดเดิม

Previous Article Next Article
Use Code: FIRSTORDER10 กรอกโค้ดที่หน้าเช็คเอาท์เพื่อรับส่วนลด 10% สำหรับออเดอร์แรก